การพัฒนาชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
บทคัดย่อ | |
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เปรียบเทียบความต่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มประชากรในการวิจัยครั้งนี้จะเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2560 ของโรงเรียนวัดท้ายสำเภา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1จำนวน 16 คนได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) ชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผลการวิจัยพบว่า |
|
คำสำคัญ | |
ชุดการสอน,การพัฒนาชุดการสอน, ประติมากรรม,สร้างสรรค์,ประถมศึกษาปีที่ 3 | |
คำนำ | |
การจัดการศึกษาในปัจจุบันนี้ ยึดหลักผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ กระบวนการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นพัฒนาให้เป็นคนสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม สามารถพัฒนาตนเองและร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์การเรียนรู้ศิลปะเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม สุนทรียภาพ ความมีคุณค่าซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนทางศิลปะได้มุ่งเน้นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนสามารถนำไปในการพัฒนาผู้เรียนโดยตรง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ พัฒนากระบวนการรับรู้ทางศิลปะ การเห็นภาพรวม การสังเกตรายละเอียด การมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545ได้บัญญัติสาระการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยผสมผสานความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.2540:4-9) การรับรู้ด้านศิลปะของผู้เรียนแต่ละคนนั้นมีความสามารถในการรับรู้ที่แตกต่างกัน หรืออาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพในด้านการรับรู้ การคิด ทักษะฝีมือ โอกาส เวลา การใช้สื่ออุปกรณ์ที่ไม่เหมือนกัน อันเป็นผลเนื่องมาจากสภาพการต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดหาอุปกรณ์ โอกาสทางการรับรู้ด้านศิลปะมีไม่เพียงพอ หรืออาจจะไม่มีเลย รวมทั้งเวลาในการเรียนรู้มีน้อย ครูผู้สอนไม่สามารถที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้เรียนได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความเบื่อหน่ายและไม่ชอบเรียนในรายวิชาศิลปะได้ ในทางตรงข้าม ครูผู้สอนเองก็ประสบปัญหาด้านการเรียนการสอน กล่าวคือ ครูผู้สอนส่วนมากยังไม่สามารถที่จะสอนวิชาศิลปะที่ทำให้ผู้เรียนรับรู้ได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ทั้งหมด อาจจะเป็นผลเนื่องมาจากการรับภาระหน้าที่ ภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนมากเกินไป ไม่มีแหล่งเรียนรู้และแหล่งค้นคว้าที่หลากหลายสำหรับนักเรียน อุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน โดยเฉพาะวิชาศิลปะนั้นเป็นวิชาที่เน้นการฝึกทักษะ การปฏิบัติและใช้เวลาในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มความชำนาญแล้วการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจำเป็นจะต้องอาศัยการรับรู้ทางอารมณ์ ความพอใจ เพิ่มและสร้างจินตนาการต่าง ๆ เป็นผลงานศิลปะได้ เมื่อกล่าวถึงการจัดการเรียนรู้การสอนที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย เช่น เวลา ความไม่หลากหลายในการจัดกิจกรรมและสื่อการสอนอาจส่งผลให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ลดลง ทำได้แต่เพียงการทำงานตามที่ครูบอกให้ทำเท่านั้น ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นพบว่า การใช้ชุดการสอนเป็นวิธีสอนที่สามารถแก้ปัญหาการสอนของครูได้ เพราะชุดการสอนใช้สื่อที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ สามารถสรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับงานวิจัยของ สุพรรณ เกียรติเจริญ (2550 : 50-52) ที่พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยวิธีการเรียนแบบศูนย์การเรียนกับการเรียนปกติมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และนักเรียนที่เรียนโดยชุดกิจกรรมแบบศูนย์การเรียนมีคะแนนค่าเฉลี่ยหลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียน และงานวิจัยของ พงษ์ศักดิ์ ปัญญาดี (2551: 58-61) พบว่าความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนอยู่ในระดับมาก จากหลักการและเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะพัฒนาชุดการสอนกลุ่มสาระศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ เนื่องจากชุดการสอนสามารถเร้าและกระตุ้นความสนใจของนักเรียนทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียน สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกตนเองกล้าตัดสินใจและกล้าแสดงออกสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งชุดการสอนยังสามารถช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพ และตามความสามารถของผู้เรียนเองตามลำดับทีละขั้น ชุดการสอนจะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาการเรียนวิชาศิลปะและเพิ่มประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนดีขึ้น ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประโยชน์ต่อผู้เรียน |
|
วิธีดำเนินการวิจัย | |
1. สร้างชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามขั้นตอนเพื่อจัดทำเป็นชุดการสอน จำนวน 4 ชุด โดยกำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ นำมาประกอบเป็นชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน ประกอบด้วย ชุดการสอนที่ 1 พื้นฐานการปั้นและการแกะสลัก ชุดการสอนที่ 2 ประเภทของงานปั้นและแกะสลัก ชุดการสอนที่ 3 ขั้นตอนและวิธีการปั้นจากกระดาษและการแกะปูนปลาสเตอร์ และชุดการสอนที่ 4 งานปั้นจากกระดาษและแกะปูนปลาสเตอร์ ประกอบด้วยสื่อการเรียนรู้ บัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรกิจกรรม และบัตรเฉลย โดยชุดการสอนที่สร้างขึ้นผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่านประเมินความเหมาะสมด้านต่างๆได้แก่ ด้านคำชี้แจงในการใช้ชุดการสอน ด้านจุดประสงค์การเรียนรู้เชิงพฤติกรรม ด้านเนื้อหา ด้านกิจกรรม ด้านแผนจัดการเรียนรู้ ด้านแบบทดสอบ ด้านภาษา โดยใช้แบบประเมินเป็นมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ ผู้วิจัยปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญและนำไปทดสอบครั้งที่ 1 เพื่อหาประสิทธิภาพแบบเดี่ยว(1:1) กับกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2559 โรงเรียนวัดท้ายสำเภา ที่มีระดับพัฒนาการอยู่ในระดับเก่ง ปานกลาง อ่อน จำนวน 3 คน เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับภาษา และกิจกรรมที่ใช้ในชุดการสอน หลังจากการปรับปรุงแก้ไขแล้ว นำชุดการสอนไปทดสอบครั้งที่ 2 เพื่อหาประสิทธิภาพแบบกลุ่ม(1:10) กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2559 โรงเรียนวัดท้ายสำเภา ที่ไม่ใช้กลุ่มทดลองเดิมจำนวน 9 คน คละนักเรียนที่มีระดับผลการเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อน ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อดูปริมาณเนื้อหา กับเวลาที่ใช้ ว่ามีความเหมาะสมเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ นำข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไขทดลองครั้งที่ 3 เพื่อหาประสิทธิภาพภาคสนาม(1:100) กับประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัย จำนวน 16 คน เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2560 โรงเรียนวัดท้ายสำเภา เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการสอนตามเกณฑ์ 80/80
2. สร้างแบบทดสอบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ เสนอต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบคุณภาพ แบบทดสอบที่แก้ไขปรับปรุงแล้วไปใช้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบความเที่ยงตรงตามเนื้อหานำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่านมาปรับปรุงและแก้ไข แล้วนำไปทดสอบกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เคยเรียนเรื่องนี้มาแล้วจำนวน 20 คน เพื่อหาค่าความยากง่าย (P) และค่าอำนาจจำแนก (r) ได้ข้อสอบที่มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ .34 – .80 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .20 – .64 คำนวณค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตร KR-20 ได้ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับที่ .83 |
|
การเก็บรวบรวมข้อมูล | |
ผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองในปีการศึกษา 2560 โดยใช้เวลาในการทดลองสัปดาห์ละ 2 วัน รวมเวลาที่ใช้ในการทดลอง 12ชั่วโมง | |
สรุปผลและอภิปรายผล | |
1.ชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเป็นชุดการสอนที่ผู้เรียนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกันโดยจัดการเรียนในรูปแบบของศูนย์การเรียน แต่ละชุดการสอนย่อยจะมีศูนย์การเรียน 3 ศูนย์ ซึ่งแต่ละศูนย์การเรียนมีความสมบูรณ์จบในตัวเองนักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการกลุ่ม นักเรียนพึงพอใจ ไม่เกิดความเบื่อหน่าย ทราบผลการเรียนทันทีหลังจากเรียนจบศูนย์โดยสามารถเรียนจากศูนย์การเรียนใดก่อนก็ได้ในที่สุดทุกคนจะได้เรียนรู้ครบทุกศูนย์การเรียน สอดคล้องกับ สุพรรณ เกียรติเจริญ (2550:16) ที่กล่าวว่าการสอนให้นักเรียนได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ทำให้นักเรียนพึงพอใจ มีกำลังใจ ไม่ก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นปัจจัยในการเรียนรู้มีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์นักเรียนทราบผลการเรียนทันทีหลังจากเรียนจบศูนย์ในการทดลองภาคสนาม(1:100)กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2560 จำนวน 16 คน ของโรงเรียนวัดท้ายสำเภา ผลการวิจัยพบว่าชุดการสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.06/80.48 เป็นไปเกณฑ์ที่ตั้งไว้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ เตือนจิต ศรีดารา (2548 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเพื่อสร้างชุดการเรียนรู้กลุ่มสาระศิลปะ สาระทัศนศิลป์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลที่ 0.50 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2/1 และ 2/2 โรงเรียนบ้านโนนค้อ ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชุดการเรียนรู้กลุ่มสาระศิลปะ จำนวน 6 แผน ผลการศึกษาพบว่า ชุดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพทั้งด้านกระบวนการและประสิทธิภาพทั้งผลลัพธ์ สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยพิจารณาจากผลการหาค่าประสิทธิภาพ (E1/E2 ) เท่ากับ 83.55/80.67 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล (E.I.) เท่ากับ 0.68 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้สอดคล้องกับงานวิจัยของพงษ์ศักดิ์ ปัญญาดี (2551:58-61)ได้ทำการวิจัยเรื่องการสร้างชุดการสอนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาผลการวิจัยพบว่าชุดการสอนทุกชุดโดยภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมาก ประสิทธิภาพของชุดการสอนโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ย 81.68/76.15 ความพึงพอใจหลังการใช้ชุดการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากสอดคล้องกับงานวิจัยของอรญา นิชรัตน์(2551 :85-87) ได้ทำการวิจัยพัฒนาชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ผลการวิจัยพบว่าชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.23/86.13 สอดกับงานวิจัยของรัตมณี เสนีกาญจน์ (2552 : 63) ได้ศึกษาการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบค้นพบ เรื่องเทคนิคการสร้างภาพศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบค้นพบ เรื่อง เทคนิคการสร้างภาพศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ทั้ง 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม 1 เทคนิคกาวลากเท็กซ์ กิจกรรม 2 เทคนิคเกลือและน้ำตาล และกิจกรรม 3 เทคนิคการขยำกระดาษ มีประสิทธิภาพด้านกระบวนการ (E1 ) และด้านผลลัพธ์ (E2 ) เท่ากับ 86.33/86.67 , 85.33/85.67 และ 86.00/87.33 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า ชุดกิจกรรมทั้งชุดมีประสิทธิภาพเท่ากับ 85.89/86.56 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งด้านกระบวนการและด้านผลลัพธ์ 2) เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องเทคนิคการสร้างภาพศิลปะ พบว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสุงกว่านักเรียนที่เรียนตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดบ .01 ทั้งในแต่ละกิจกรรมและรวมทุกกิจกรรม 3) นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบค้นพบเรื่องเทคนิคการสร้าง ภาพศิลปะ มีความพึงพอใจต่อชุดกิจกรรมนี้ในระดับมาก
2.คะแนนผลสัมฤทธิ์หลังเรียนด้วยชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ เรื่อง ประติมากรรมสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนอย่างมีสำคัญทางสติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ สอดคล้องกับงานวิจัยของณัฐวัณฏ์ รักษาทรัพย์ (2552 : 96) ได้ศึกษาการพัฒนาหนังสืออ่านประกอบการเรียน เรื่องการวาดภาพระบายสี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กรณีศึกษาโรงเรียนรักษาทรัพย์พิทยากร จังหวัดปราจีนบุรี ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนกลุ่มที่เรียนจากหนังสืออ่านประกอบมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สอดคล้องกับ สุพรรณ เกียรติเจริญ (2550 : 50-52) ได้ทำการวิจัยเรื่องการสร้างชุดกิจกรรมแบบศูนย์การเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องสิ่งเสพติด สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่เรียนโดยชุดกิจกรรมแบบศูนย์การเรียนมีคะแนนค่าเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สอดคล้องกับงานวิจัยของ อรญา นิชรัตน์ (2551 : 85-87) ได้ทำการวิจัยพัฒนาชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี สำรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 |
|
ข้อเสนอแนะ | |
ข้อเสนอแนะทั่วไป 1. ครูควรจะมีบทบาทให้น้อย ในขณะที่นักเรียนใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน นักเรียนจะได้มีโอกาสศึกษาด้วยตนเองเพิ่มขึ้น 2. การมอบหมายหน้าที่ของสมาชิกในกลุ่มควรมีการเปลี่ยนให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้มีบทบาทในการทำงานโดยไม่จำเป็นจะต้องให้นักเรียนที่เรียนเก่งปฏิบัติอย่างเดียว 3. ก่อนที่นักเรียนจะเข้าศึกษาในศูนย์การเรียน ครูควรอธิบายถึงวิธีการใช้สื่อการสอนหรืออุปกรณ์ต่างๆภายในศูนย์การเรียนข้อเสนอแนะสำหรับงานวิจัยครั้งต่อไป 1. ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระหว่างการสอนโดยใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียนกับรูปแบบการสอนอื่น 2. ศึกษาความเข้าใจที่คงทนต่อการเรียนโดยใช้ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน |
|
อ้างอิง | |
ณัฐวัณฏ์ รักษาทรัพย์.(2552 ). “การพัฒนาหนังสืออ่านประกอบการเรียน เรื่องการวาดภาพระบายสี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เตือนจิต ศรีดารา. (2548).การสร้างชุดการเรียนรู้ กลุ่มสาระศิลปะสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2. รายงานการศึกษาอิสระปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการประถมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พงษ์ศักดิ์ ปัญญาดี.(2551).การสร้างชุดการสอนวิชาพระพุทธศาสนา สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศานา.วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. รัตมณี เสนีกาญจน์.(2552). “การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบค้นพบ เรื่องเทคนิคการสร้างภาพศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2”. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต.สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษฒ. สุพรรณ เกียรติเจริญ.(2550 ).การสร้างชุดกิจกรรมแบบศูนย์การเรียน วิชา สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเรื่อง สิ่งเสพติด สำหรับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.(2540). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2545.กรุงเทพฯ:พริกหวานกราฟฟิค. อรญา นิชรัตน์.(2551).การพัฒนาชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เรื่องประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1.วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต: มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี. |